อินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่ต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์อยู่นานประมาณ 300 ปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญ ๆ ในสมัยนั้นให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลง คือ เมื่อมีผู้รักชาติชาวอินโดนีเซียจัดตั้งขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและ ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมเดิมไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่าเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซีย อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์จึงเข้ามาช่วยเคลียแล้วโชว์เพาว์ เพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) เมื่อ พ.ศ. 2489 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจของรัฐบาลอินโดนีเซียในเกาะชวาและสุมาตรา ต่อมาภายหลัง เนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลง โดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศอื่น ๆ เช่นออสเตรเลีย และอินเดียได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาท โดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม และได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิง แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โนและฮัตตาไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียนำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่ง และคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย
ใน วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2492 อินโดนีเซียได้รับเอกราช แต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอิเรียนตะวันตกเข้ากับ อินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุด เนเธอร์แลนด์ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคมดูแลดินแดนอิเรียนตะวันตก และให้ชาวอิเรียนตะวันตกแสดงประชามติว่าจะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติ ปรากฏว่าชาวอิเรียนตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอิเรียนตะวันตกให้อยู่ในความปกครองของอินโดนีเซียเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2506
ความเป็นมาของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- ในอดีตหมู่เกาะต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นรัฐ เดียว แต่ได้แยกกันเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น จนกระทั่งชาวดัทช์ได้เข้ามาปกครอง แต่เดิมหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธ จนกระทั่งอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ในศตวรรษที่ 13
- ในศตวรรษที่ 15 อินโดนีเซียเริ่มเป็นที่สนใจของชาวยุโรปเนื่องจากเป็นแหล่งเครื่องเทศ ชาวโปรตุเกสและสเปนได้เริ่มเข้ามาในภูมิภาคในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 16 และ โปรตุเกสได้ยึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นอาณานิคม การจัดตั้งบริษัท ดัทช์ อีส อินเดีย หรือ Vereniging Oost Indische
Compagnie-VOC ใน พ.ศ. 2145 เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าปกครองอินโดนีเซียในฐานะอาณานิคมของดัชท์ ในช่วงแรก บริษัท VOC ใช้วิธีเข้าไปมีอิทธิพลเหนือผู้ปกครองท้องถิ่น ต่อมา ใน พ.ศ. 2342 หลังจาก รัฐบาลฮอลันดาเข้าควบคุมกิจการบริษัท VOC รัฐบาลฮอลันดาก็ได้เข้าปกครองอินโดนีเซียใน
รูปแบบอาณานิคม
- ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เกิดกระแสชาตินิยมในอินโดนีเซียต่อต้านการปกครองของเจ้าอาณานิคม ใน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือบริษัทดัทช์ อีสท์ อินเดีย และได้เข้าปกครองอินโดนีเซียระยะหนึ่ง หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม กลุ่มชาตินิยม นำโดย ซูการ์โนและฮัตตา ได้ประกาศอิสรภาพให้แก่อินโดนีเซีย ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อย่างไรก็ตาม ยังมีการต่อสู้กันระหว่างอินโดนีเซียกับดัทช์ ซึ่งพยายามกลับมาปกครองอินโดนีเซียในฐานะเจ้าอาณานิคม จนกระทั่ง 27 ธันวาคม 2488 ดัทช์จึงได้ยอมมอบเอกราชให้แก่อินโดนีเซียอย่างสมบูรณ์
- อินโดนีเซียได้ขยายเขตแดนของประเทศ 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2506 ภายหลังจาก Dutch New Guinea หรือ Irian Jaya ในปัจจุบันได้รับเอกราช อินโดนีเซียได้ประกาศผนวกดินแดนในเดือนกันยายน 2512 ต่อมา ในปี 2518-2519 อินโดนีเซียได้บุกเข้ายึดครองและผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออก ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และได้ประกาศผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2519 แต่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ยอมรับการอ้างสิทธิเหนือติมอร์
ตะวันออกของอินโดนีเซีย จนทำให้สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทดำเนินการให้
ติมอร์ตะวันออก (สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต) กลายเป็นประเทศอิสระ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2545
- ในเดือนเมษายน 2525 นานาชาติได้ประกาศให้การยอมรับการอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเล ซึ่งเชื่อมเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน ทำให้อินโดนีเซียสามารถประกาศให้พื้นที่ทะเลเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ ได้ในปี 2526
รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตย ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ที่ตั้ง
อินโดนีเซียมีพื้นที่ 5,193,250 ตารางกิโลเมตร เป็นแผ่นดิน 2,027,087ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 17,508 เกาะ รวมอยู่ในพื้นที่ 4 ส่วน คือ
- หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ประกอบด้วยเกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียว และสุลาเวสี
- หมู่เกาะซุนดาน้อย ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีเกาะบาหลี ลอมบอก ซุมบาวา ซุมบา ฟอลเรส และติมอร์
- หมู่เกาะมาลุกุ หรือ หมู่เกาะเครื่องเทศ ตั้งอยู่ระหว่างสุลาเวสี กับอิเรียนจายาบนเกาะ นิวกีนี
- อีเรียนจายา อยู่ทางทิศตะวันตกของปาปัวนิวกินี
- อินโดนีเซียตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทร อินเดีย และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียกับออสเตรเลีย ทำให้อินโดนีเซียสามารถควบคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสอง ผ่านช่องแคบที่สำคัญต่างๆ เช่นช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องแคบล็อมบอก ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก
เมืองหลวง
จาการ์ตา
เมืองสำคัญ
จาการ์ตา สุราบายา บันดุง เมดาน เซมารัง ปาเลมบัง
ภูมิอากาศ
อินโดนีเซียมีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร ประกอบด้วย 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม-ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน)
ศาสนา
ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก
ร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาพุทธ
ภาษา
ภาษาประจำชาติ ได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia
การศึกษา
ร้อยละ 90 ของประชากรสามารถอ่านออกเขียนได้ อินโดนีเซียมีมหาวิทยาลัยของรัฐ 49 แห่ง และของเอกชนกว่า 950 แห่ง
เขตการปกครอง
อินโดนีเซียแบ่งการปกครองเป็น 30 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 3 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา นครย็อกยาการ์ตา และจังหวัดอาเจห์
สกุลเงิน
รูเปียห์ (Rupiah) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 9,500 รูเปียห์ (มกราคม 2549)
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วการท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก แต่หลังจากที่ สายการบินหางแดง สายการบินหนึ่งได้มีโปรโมชั่นบินในราคาจูงใจบ่อยๆ เลยทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทย ได้มีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ประเทศอินโดนีเซียกันมากขึ้น
คนไทยที่ไปเที่ยวอินโดนีเซียส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นที่จะไปเที่ยวที่ บาหลี ซึ่งเป็นเมืองชื่อดังของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมุ่งหน้าไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก
No comments:
Post a Comment