Wednesday, February 3, 2016

ไปเที่ยวเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี (Thailand) กัน!

คืนนี้ เวลา 02.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 คิวรถวัดพลวง เปิดให้จองตั๋วขึ้นเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เพื่อสักการะพระพุทธบาทพลวง ซึ่งเที่ยวแรก จะได้ขึ้นเขาตอนเช้า เวลา 06.00 น. ข้อมูลจากคิวรถวัดพลวง

งานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ให้พุทธศาสนิกชน นักแสวงบุญ นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นเขาได้ตั้งแต่ 16 ก.พ. 2559 พร้อมตั้งหน่วยอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชม.

ที่นี่ถือเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในไทย เอาล่ะ ปีนี้ใครอยากลองไปวัดพลังขา สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และได้ท่องเที่ยวชมวิวบนเขาไปพร้อมกัน ต้องมาศึกษาข้อมูลกันหน่อย วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอเปิดคู่มือท่องเที่ยว สำหรับการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ มาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

1. เดินทางไปเองได้โดย ขสมก.

สำหรับการเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ ถ้าไม่มีรถ ก็สามารถเดินทางไปเองได้อย่างสะดวกสบายโดยรถบัสของ ขสมก. เป็นทัวร์ไหว้พระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏโดยเฉพาะ จากกรุงเทพฯ ไปถึงวัดกระทิง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โดยคิดค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมถึงค่ารถกระบะที่พาขึ้นเขา ค่าใช้จ่ายไป-กลับ ประมาณพันกว่าบาทเท่านั้น

อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 479 บาทต่อคน (ไม่รวมค่าบริการรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ 200 บาทต่อคน) รถออกจากอู่บางเขนเวลา 06.30 น. ในวันอังคาร วันพฤหัสฯ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ แต่ก็สามารถขึ้นรถตามจุดต่างๆ ระหว่างทางได้ด้วย อันนี้ต้องสอบถามเพิ่มเติม ใครสนใจก็ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ เขตการเดินรถที่ 1 (อู่บางเขน ขสมก.) โทร. 0-2551-2492, 0-2552-0885-6 และ 08-1847-1403
คลื่นพลังแห่งศรัทธา ที่มีเกิดขึ้นทุกปี

2. ไม่ต้องกลัวร้อนแดดขนาดนั้น

บางคนอาจจะคิดว่าการเดินขึ้นเขาช่วงกลางวัน กลัวแดดร้อน ก็เลยเลือกเดินทางไปตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนหรือเช้ามืด ขอบอกตรงนี้เลยว่า อากาศไม่ได้ร้อนอบอ้าวขนาดนั้น แดดไม่แรง ระหว่างทางเดินขึ้นเขามีร่มไม้ตลอดทาง สามารถเดินขึ้นในช่วงเช้าหรือช่วงสายได้สบาย อากาศบนเขาลมพัดเย็นสบาย ไม่ได้หนาวมาก ออกจะร้อนด้วยซ้ำตอนเดินขึ้น ได้เหงื่อเลยทีเดียว โดยสรุป แนะนำว่าควรไปให้ถึงตีนเขาประมาณ 8-9 โมงเช้ากำลังดี

3. ใส่เสื้อผ้าสบายๆ 

พอมาถึงวัด ก็จะต้องนั่งรถกระบะขึ้นเขาไปตามถนนระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าขึ้นเขาต่อไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร หรือประมาณ 40 นาที สำหรับเสื้อผ้าแนะนำว่า ให้เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่ต้องหนามาก เพราะตอนเดินขึ้นเขาจะเหงื่อออก และทางวัดมีกฎค่อนข้างเคร่งครัดคือ ห้ามใส่เสื้อสายเดี่ยว ชุดโป๊ๆ หรือกางเกงขาสั้น ห้ามใส่ขึ้นไป จะต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ข้างบนจุดไหว้สักการะ มีผ้าถุงให้เช่าสำหรับคนที่แต่งกายไม่เหมาะสม

ส่วนรองเท้าต้องเลือกให้ดี ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าผ้าใบที่สวมแล้วกระชับ เหมาะสำหรับการเดินระยะไกล จะได้ไม่เมื่อยเท้า เพราะบางช่วงที่เดินขึ้นเขาก็ค่อนข้างชัน หรือบางครั้งจะเจอฝนปรอยเล็กน้อย อากาศชื้น การที่เราใส่รองเท้าไม่ดีก็อาจจะลื่นได้ ดังนั้นต้องเลือกรองเท้าที่ใส่เดินได้มั่นคง
อากาศข้างบนเย็น แต่ไม่ถึงกับหนาวมาก

4. มีเสลียงบริการ

ใครที่พาผู้สูงอายุไปเที่ยวด้วย เขาก็มีเสลียงบริการ สำหรับคนที่เดินขึ้นไม่ไหว แต่อยากไปไหว้ขอพร แต่ราคาสูงเหมือนกัน อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ตลอดเส้นทางมีต้นไม้ให้ความร่มรื่น มีลมพัดมาเป็นระยะ ไม่ถึงกับร้อนอบอ้าว แต่พอเดินถึงข้างบนแล้วรับรองว่าอากาศเย็น มีลมพัดมาตลอด และก็จะมีน้ำชาและน้ำขิงให้ดื่ม เพื่อช่วยให้สดชื่นหลังจากที่เดินขึ้นเขามาเหนื่อยๆ

5. ซิกเนเจอร์คือรถกระบะ

หนึ่งสิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของการเดินทาง คือ การนั่งรถกระบะขึ้นเขา เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างทรหด ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างของการมาเที่ยวที่นี่ เพราะจะได้เห็นและสัมผัสลีลาการขับรถของคนขับที่ชำนาญมาก เพราะมีบางช่วงรถต้องขับสลับเลนกันด้วย คนขับรถต้องใช้เวลาซ้อมขับรถในเส้นทางนี้กันเป็นเดือน

6. จุดไฮไลต์ที่ต้องสักการะ

จุดไฮไลต์ของที่นี่ แน่นอนว่าก็คือ รอยพระพุทธบาท และหินก้อนใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา มีความเชื่อว่า การเดินจนมาถึงตำแหน่งนี้ได้ เป็นการวัดพลังศรัทธาอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่ไปสักการะที่นี่ ก็เพราะว่าขอพรแล้วพรนั้นสัมฤทธิ์ผล ก็เลยนิยมไปกันเยอะ โดยสามารถขอพรเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน สุขภาพ ความรัก เงินทอง ลาภยศต่างๆ แต่ให้ขอพรได้แค่ 1 ข้อเท่านั้น โดยให้ขอพรตรงรอยพระพุทธบาท
ไหว้สักการะด้วยพลอย

7. วิธีไหว้สักการะ

การที่ขอพรแล้วได้สมปรารถนา ว่ากันว่าต้องสักการะให้ถูกวิธีด้วย มีกูรูแนะนำว่า ก่อนจะเดินไปถึงตรงที่รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ ระหว่างทางจะมีพระพุทธรูปต่างๆ เต็มไปหมด ตลอดสองข้างทาง ก็ควรจุดธูปไหว้สักการะด้วย พรที่ขอถึงจะเป็นจริง

และพอเดินมาถึงที่ รอยพระพุทธบาท ต้องสักการะด้วยพลอยและดอกดาวเรือง โดยใช้พลอยประจำวันเกิด พลอยประจำปีเกิด หรือพลอยประจำเดือนเกิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีสีไม่เหมือนกัน แล้วก็จะมีกระดาษให้ปิดทอง สามารถซื้อได้จากด้านล่างตีนเขา หรือซื้อข้างบนก็มีขายเช่นกัน

8. หนุ่มสาวพลังเยอะ เดินต่อได้!

นอกจากนี้ ยังมีทางเดินต่อสูงขึ้นไปอีก ซึ่งทางเดินบางช่วงก็ค่อนข้างชันและอันตราย บางวันถ้าอากาศเย็นมากจะมีหมอกลง ตรงนั้นคือจุดที่เรียกว่า ผ้าแดง เหมาะสำหรับคนวัยหนุ่มสาวที่ยังมีกำลังวังชา (ไม่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ) สามารถเดินต่อขึ้นไปอีกประมาณ 1 กม. เพื่อชมวิว รวมถึงไปเขียนคำขอพรลงไว้ที่ผ้าแดง เชื่อกันว่า จะทำให้พรนั้นสมดั่งใจปรารถนา

แม้ว่าไฮไลต์ของการไปขอพร ต้องไปขอที่รอยพระพุทธบาท แต่ถ้าจะไปขอพรที่ผ้าแดงด้วยก็เป็นกิมมิกเสริมเล็กๆ ที่น่าสนใจเช่นกัน สรุปว่าใครเดินไหว ก็ไปไหว้ขอพรทั้งสองจุดได้เลยก็ได้ ไม่ผิดกติกาใดๆ
ไปสักการะรอยพระพุทธบาท

9. ช่วยกันรักษาความสะอาด

แนะนำว่าอย่าเอาพลาสติกจำพวกขวดน้ำ ห่อขนม ขึ้นไปข้างบนเขา เพราะจะเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องขนขยะลงมาเป็นจำนวนมาก ถ้าขึ้นไปซื้อของกินข้างบนก็ต้องทิ้งขยะลงถัง ช่วยกันรักษาความสะอาด

10. ทำใจเรื่องรอรถขึ้นเขา และผู้คนเบียดเสียด

เนื่องจากว่า มีคนเดินทางขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทเยอะมากในแต่ละปี พื้นที่ด้านบนก็มีจำกัด ไม่สามารถรองรับผู้คนเรือนหมื่นได้ในคราวเดียว เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการจัดการระบบการเดินขึ้นและลงในแต่ละรอบ ต้องค่อยๆ ทยอยปล่อยนักเดินทางขึ้นไปทีละกลุ่ม จุดนี้อาจจะต้องรอให้คนด้านบนไหว้เสร็จ แล้วเดินลงมาก่อน ชุดต่อไปถึงจะขึ้นไปได้ ต้องทำใจเรื่องรอรถนาน และการเดินขึ้นเขาที่เบียดกันมากๆ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษล


ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เมืองจันท์เตรียมงาน 'นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง'
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/571149

No comments:

Post a Comment